d10d1c25a895a53d1946775a239bc35etb854af3

ขับรถชนคนเสียชีวิต ทำอย่างไรดี?

Sharing is caring!

ขับรถชนคนเสียชีวิต
ทำอย่างไรดี ❓❓❓

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ” ผู้ใดกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษ
จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ”

⭕️ จากบทกำหนดโทษตามมาตรานี้ ที่ ทำให้คนขับรถที่ชนคนมักหลบหนีเนื่องจากเกรงว่าจะถูกลงโทษตามที่กำหนด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องด้วยการกระทำโดยประมาท คือการกระทำที่ขาดความระมัดระวัง หรือ ระวังแล้ว แต่ไม่เพียงพอตามวิญญูชนพึงถือปฏิบัติซึ่งไม่ใช่เจตนา ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ผู้กระทำได้เล็งเห็นผลที่ชัดเจนอยู่แล้ว
ดังนั้น เมื่อเป็นเรื่องการประมาท ศาลมักจะให้โอกาสกับผู้กระทำการโดยประมาทได้มีการปรับปรุงตน ซึ่งทั่วไปแล้ว โทษจำคุกมักจะรอลงอาญา เว้นแต่บุคคลนั้นเคยกระทำความผิดเช่นว่านั้น หรือเคยรอลงอาญามาก่อนแล้วยังมากระทำความผิดซ้ำอีก เช่นนี้ศาลจะพิจารณาลงโทษเลย และไม่เพียงแต่ลงโทษในคดีความใหม่เท่านั้น
แต่จะรวมเอาโทษที่รอลงอาญาอยู่ก่อนนั้นมาลงโทษด้วยทันที การที่ศาลจะรอลงอาญากับผู้กระทำผิดหรือกระทำการโดยประมาทนั้นจะต้องมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบและรู้สำนึกเป็นเบื้องต้นก่อนดังนั้นในกรณีที่ขับรถเกิดอุบัติเหตุหรือชนคนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจึงแนะนำว่า

1️⃣ ผู้ขับขี่ต้องอย่าหลบหนี เพราะการหลบหนีนั้นเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ และ ขาดไร้ซึ่งคุณธรรม ถ้าผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด และตำรวจมีอำนาจยึดรถที่ขับไว้จนกว่าจะได้ตัวผู้ขับขี่หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

2️⃣ ต้องแสดงความรับผิดชอบ การมีน้ำใจเช่นการให้ความช่วยเหลือ การบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คนขับรถ มักไม่ค่อยเห็นประโยชน์ ของการช่วยเหลือเหล่านี้ ความจริงเมื่อเราขับรถชนคนตาย บาดเจ็บ หรือการขับรถโดยประมาทนั้น เรามีความผิดทั้งทางกฎหมายแพ่ง และอาญา
ทางอาญา เราอาจจะต้องรับโทษติดคุกติดตะราง
ทางแพ่ง เราจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าบาดเจ็บ ค่าทำศพให้กับเขาอีก คือติดคุกแล้วยังจะต้องเสียเงินให้กับฝ่ายคนเจ็บ คนตายเขาอีก
ทีนี้ถ้าหากเราช่วยเหลือคนเจ็บ หรือใช้ค่าทำศพคนตายแล้ว มีผลดียังไง ตอบได้ว่า มีผลดีมาก ยกตัวอย่าง เช่น

🔶 เราขับรถชนคนบาดเจ็บไปโรงพยาบาล ต่อมาอัยการฟ้องเราต่อศาล เราก็แถลงต่อศาลว่าเราช่วยเหลือคนเจ็บ ส่งโรงพยาบาล
ส่วนมาก ศาลจะเห็นว่า เราเป็นคนดีมีน้ำใจ ศาลก็อาจจะรออาญาให้เราโดยไม่จำคุกเรา แต่ถ้าเราชนแล้วหนี ส่วนมาก
ศาลมักจะจำคุกเราเลย เพราะเห็นว่าเราเป็นคนแล้งน้ำใจ

🔶 การตกลงใช้ค่าเสียหายให้คนเจ็บก็มีประโยชน์มากยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่พยายามตกลงใช้ค่าเสียหายให้กับคนเจ็บ
ตำรวจเขาจะมีระเบียบไว้ว่า ไม่ให้คืนรถของกลางให้แก่ผู้ต้องหา จนกว่า ผู้ต้องหาจะพยายาม ตกลงกับฝ่ายผู้เสียหาย
และถ้าหากเราชดใช้ค่าเสียหาย จ่ายค่าทำศพให้เขา คดีแพ่งก็ระงับ เพราะถือว่า ยอมความคดีแพ่งกันแล้ว จะฟ้องเรียกค่าเสียหายเรา
ในทางแพ่งไม่ได้อีกแล้ว และถ้าเราถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาล ผู้เสียหาย จะมาแถลงต่อศาลว่า เราได้ชดใช้ค่าเสียหายให้เขาแล้ว
ส่วนมากแล้ว ศาลจะปรานีจำเลย โดยตัดสินให้รออาญาแก่จำเลย เห็นหรือยังว่า การช่วยเหลือคนเจ็บ และการมีน้ำใจนั้นดีอย่างไร

3️⃣ ยอมรับผิดด้วยรู้สำนึกต่อการกระทำที่เกิดขึ้น และให้ความร่วมมือในการสอบสวนคดีของตำรวจ

4️⃣ ผู้ขับขี่ต้องแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นนั้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุนั้น และแสดงตนหรือมอบตัวต่อเจ้าพนักงานสอบสวน

5️⃣ ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามสมควรแก่กรณีให้กับผู้เสียหาย (ผู้เสียหายในที่นี้อาจจะหมายถึง ภรรยา บุตร หรือ ญาติของผู้เสียชีวิต )
และหากรถยนต์คันที่เกิดเหตุมีประกันภัยเอาไว้ก็ต้องแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นนั้นให้บริษัทประกันภัยรับทราบทันที ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก
เพราะว่าเมื่อบริษัทประกันภัยได้รับแจ้งเหตุจากคนขับ ทางบริษัทประกันภัยก็จะส่งพนักงานเคลมออกมาให้บริการกับผู้ขับขี่
และให้คำแนะนำที่ถูกต้องพร้อมทำแผนที่เกิดเหตุไว้พร้อมมูลเพื่อเอาไว้ต่อสู้คดี (ในการชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าหากรถคันที่เกิดเหตุ
มีประกันภัยเอาไว้ ประกันภัย ไม่ว่าจะเป็น ประเภท 1 2 3 หรือ ประเภท5 ( 2+, 3+) ก็จะมีความคุ้มครองต่อชีวิตบุคคลภายนอกเอาไว้ด้วย ซึ่งความคุ้มครองในส่วนนี้เองที่จะไปชดใช้ค่าเสียหายต่อชีวิต ที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พรบ. ค่าขาดไร้อุปการะ เป็นต้น )
**** อย่าลืม ถ้ามีกล้องถ่ายรูปหรือหากล้องถ่ายรูปใกล้ที่เกิดเหตุได้ต้องรีบถ่ายรูปรถ และที่เกิดเหตุไว้ให้พร้อม
เพื่อจะได้เก็บไว้เป็นหลักฐานการต่อสู้คดีต่อไป และหากมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ้งหรือมูลนิธิร่วมกตัญญูถ่ายภาพศพหรือที่เกิดเหตุไว้
ก็ให้ติดต่อขอภาพที่ถ่ายเก็บไว้ให้ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีในภายหลัง *****
ในชั้นพนักงานสอบสวนก็จะทำการสืบสวน-สอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ขับขี่ที่ประมาท โดยเมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว คดีนั้นมีผู้เสียชีวิต พนักงานสอบสวนก็จะทำการควบคุมตัวผู้ต้องหา ตรงนี้แหละครับที่บริษัทประกันภัยจะเข้ามาให้การช่วยเหลือผู้ขับขี่ด้วยการนำหลักทรัพย์มาประกันตัวให้กับผู้ขับขี่ หากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นมีการซื้อ ประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญาเอาไว้
( ซึ่งปกติ จะมีอยู่ในกรมธรรมภาคสมัครใจแทบทุกฉบับครับ แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น โดยปกติ จะอยู่ที่ 200,000 , 300,000
แต่ก็มีบางกรมธรรม์ ที่ประกันตัวผู้ขับขี่ เป็น 100,000 ครับ ) แต่ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ซื้อความคุ้มครองในส่วนประกันตัวผู้ขับขี่เอาไว้ หรือ ซื้อไว้ แต่ไม่พอ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่เองที่ต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวออกไป ตรงนี้เรียกว่า การประกันตัวชั้นพนักงานสอบสวน
โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้กำหนดว่า หลักทรัพย์ที่จะต้องนำมาประกันตัวนั้นจะต้องมีมูลค่าเท่าไร ( โดยปกติจะกำหนดอยู่ที่
ถ้าเป็นรถส่วนบุคคล 150,000 บาท รถรับจ้าง 200,000-250,000 บาท ครับ ) จากนั้นเมื่อมีการประกันตัวในชั้นนี้แล้ว ทางพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี จะทำการสรุปสำนวนรายงานการสอบสวนพร้อมพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ ประมาณ 90 วัน เมื่อ สืบสวน-สอบสวนเรียบร้อยแล้วก็จะนำเสนอรายงานการสอบสวนส่งให้กับผู้กำกับการเพื่อขอความเห็นชอบเป็นคำสั่งตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ซึ่งจะมีการสรุป ออกเป็น สาม แนวทางคือ
1. งดการสอบสวน 2. สั่งไม่ฟ้อง 3. สั่งฟ้อง
จากนั้นก็จะมีการส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวไปยังอัยการ
สำหรับในชั้นอัยการนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนจะมีการส่งไปยังอัยการ ก็จะมีการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบ ตรงนี้เมื่อผู้ถูกกล่าวหา
รับทราบถึงการนัดส่งอัยการ ก็ต้องแจ้งให้ทางบริษัทประกันภัยทราบเพื่อให้บริษัทประกันภัยจะได้จัดเตรียมหลักทรัพย์เพื่อการประกันตัว
ในชั้นอัยการอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอัยการก็จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบสำนวนรายงานการสอบสวนว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร
โดยอัยการอาจมีการส่งสำนวนกลับคืนให้ทางตำรวจทำการสืบสวน-สอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือเมื่อหากสำนวนรายงานการสอบสวน
ครบสมบูรณ์แล้ว อัยการก็จะมีความเห็นในสองแนวทางคือเห็นควรตามรายงานการสอบสวน หรือ มีความเห็นตรงกันข้ามกับพนักงานสอบสวนก็อาจจะเป็นไปได้ เช่น พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่อัยการอาจจะมีความเห็นเป็นเด็ดขาดว่า สั่งไม่ฟ้อง ก็สามารถกระทำได้ ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็จะมีการส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนสั่งฟ้องไปยังศาลต่อไปเมื่อไปถึงชั้นศาล ในชั้นนี้ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่บริษัทประกันภัยจะต้องมีการเตรียมหลักทรัพย์มาประกันตัวในชั้นศาลให้กับผู้ขับขี่และจะมีการแต่งตั้งทนายความเข้ามาเพื่อดำเนินการตามกระบวนการทางศาล

🔵🔵 จะเห็นได้ว่า ระบบประกันภัยจะเข้ามาให้ความคุ้มครองและดูแลให้กับผู้ขับขี่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องหลบหนี หากรถคุณมีประกันภัยครับ 🔵🔵

//ขอบคุณข้อมูลจาก www.facebook.com/asklaw//

Sharing is caring!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *