👮♀️👮♂️ ตำรวจมีสิทธิ์ขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชน และมีอำนาจยึดบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อื่นไว้หรือไม่ ??
ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพุทธศักราช 2526 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี จะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน แต่กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะต้องพกบัตรประชาชน เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงาน ดังนั้นผู้ที่มีอายุระหว่าง 7 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี แต่ไม่ได้พกบัตรประชาชนก็ไม่มีความผิด
💥 ส่วนผู้ที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่สามารถแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าพนักงานตรวจสอบได้ มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน มาตรา 17 💥
❗️❗️❗️ส่วนในกรณีที่เจ้าพนักงานหรือตำรวจยึดบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีเหตุสงสัยตามสมควร และชอบด้วยเหตุผล ไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ดำเนินคดีอย่างใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของบัตร กรณีนี้จึงถือว่าเป็นการยึดเอาบัตรประชาชนไว้โดยลุแก่อำนาจ และมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้เป็นเจ้าของบัตรได้รับความเดือดร้อนเสียหาย การกระทำของเจ้าพนักงานหรือตำรวจจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของบัตร
🔍🔍🔍ตำรวจทุกตำแหน่ง มีอำนาจขอตรวจบัตรประชาชนหรือไม่ ❓❓❓
ต้องเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป ส่วนตำรวจชั้นประทวน – อาสาสมัคร มีอำนาจตรวจได้เฉพาะในด่านเท่านั้น
⭕️ ทนายเกิดผล แก้วเกิด เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อไขข้อข้องใจว่า ตำรวจทั่วไปมีอำนาจขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่ ระบุว่า ตามกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตรวจบัตรประจำตัวประชาชนได้ ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครอง ปลัดอำเภอ และข้าราชการยศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่า สามารถตรวจบัตรได้ภายในเขตอำนาจหน้าที่เท่านั้น
⭕️ ส่วนตำรวจชั้นประทวน หรือ อส. มีอำนาจขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชนได้เฉพาะในด่านตรวจเท่านั้น ดังนั้น ตำรวจสายตรวจที่ยศน้อยกว่าร้อยตรี จึงไม่มีอำนาจขอตรวจบัตรประชาชน เพราะไม่ใช่การตรวจในด่าน
⭕️ ส่วนการขอค้นตัว – ค้นรถ เป็นอำนาจทั่วไปของตำรวจทุกคน เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ซึ่งเป็นคนละส่วนกับอำนาจขอตรวจบัตรประชาชน ส่วนกรณีตำรวจยึดบัตรประชาชนโดยไม่มีเหตุสงสัยตามสมควร โดยไม่ชอบด้วยเหตุผล ไม่มีแจ้งข้อกล่าวหาและไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ ถือว่าเป็นการยึดบัตรประชาชนไว้โดยลุแก่อำนาจ และมีเจตนากลั่นแกล้งเจ้าของบัตรให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย การกระทำนี้มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของบัตร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดยคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ให้อาศัยอำนาจพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน แต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้มีสิทธิ์ตรวจบัตรประชาชน
1. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการยศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่า เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรภายในเขตอำนาจหน้าที่
2. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรเฉพาะในด่านตรวจนั้น
3. ผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายทะเบียน หัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ เจ้าพนักงานปกครอง และเจ้าพนักงานเทศกิจ เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรเฉพาะในเขตนั้น
4. ปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ นักจัดการงานทะเบียนและบัตร และนักจัดการงานเทศกิจ เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรเฉพาะในเมืองพัทยา
5. ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎร หัวหน้าฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ นักจัดการงานเทศกิจ นักจัดการงานทะเบียนและบัตร และหัวหน้าฝ่าย และข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎรหรือบัตรประจำตัวประชาชน เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรในเทศบาลนั้น
//ขอบคุณข้อมูลจาก thairath.co.th / ทนายเจมส์ และ hilight.kapook.com//