119752394_2896389800592525_6717457960447213148_o

รถหายในระหว่างผ่อนชำระ จำเป็นต้องผ่อนต่อหรือไม่?

Sharing is caring!

‍♂️ รถหายในระหว่างผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน ปัญหาดังกล่าวย่อมสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้เช่าซื้อหลายท่าน ที่อาจจะยังไม่ทราบข้อกฎหมายหรือข้อต่อสู้ของตนเอง ในกรณีที่เหตุสูญหายหรือเหตุโจรกรรม มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องชำระหนี้ ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป
โดยธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่จะต้องควบคุมสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ 2522 มาตรา 35 และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ 2543 (ข้อ 4) ดังนั้น ข้อตกลงใด ที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภค หรือทำใหผู้บริโภคต้องรับภาระหนักเกินกว่าทีคาดหมายได้ ข้อตกลงนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถใช้บังคับกับผู้เช่าซื้อได้ วันนี้มีตัวอย่างคำพิพากษามาให้ได้ศึกษา 3️⃣ ตัวอย่าง
ค่าเสียหายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าขาดประโยชน์ ค่าทนายความ ค่าติดตามทวงถาม หรือแม้กระทั้งรถสูญหายก็ตาม เดิมตามสัญญาเช่าซื้อจะกำหนดให้ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด แต่ต่อไปนี้ผู้เช่าซื้อ สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวได้ หากความเสียหายหรือความสูญหายนั้น มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้เช่าซื้อ เมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหาย สัญญาเช่าซื้อ ย่อมระงับไป ผู้เช่าซื้อจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการชำระค่าเช่าซื้ออีกต่อไป
⭐️เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 2772 / 2560 ได้วินิจฉัยในประเด็นทีรถหายในระหว่างที่ ผ่อนชำระกับสถาบันการเงินไว้น่าสนใจว่า เมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไป ผู้เช่าซื้อจึงไม่ต้องรับผิดในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป อีกหนึ่งตัวอย่างที่การสูญหายหรือถูกโจรกรรม เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าของรถเอง เนื่องจากจอดรถ โดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้วลงจากรถไปซื้อของ และถูกโจรกรรมรถ ต่อมาเจ้าของรถฟ้องต่อศาลให้บังคับบริษัทรับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหาย กรณีนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ เนื่องจากเหตุที่คนร้ายลักรถยนต์เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถเอง
⭐️เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 1305/2559 ข้อความว่า พฤติกรรมของโจทก์ที่จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้ว ลงจากรถไปซื้อของ เป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยดับเครื่องยนต์และล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคนร้ายไม่สามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้โดยง่าย เหตุที่คนร้ายลักรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 897 วรรคหนึ่ง
⭐️เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2523 คำว่า “ไม่ได้ล็อกกุญแจรถยนต์” ที่เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกไว้หมายความถึงไม่ได้ล็อกกุญแจประตูรถยนต์ ไม่หมายความถึงไม่ได้ดึง กุญแจติดเครื่องยนต์ออก และการที่จอดรถยนต์ไว้ที่ริมถนนลาดพร้าว โดยไม่ได้ล็อกกุญแจประตูรถยนต์ แต่ได้ดึงกุญแจติดเครื่องยนต์ออก และทิ้งรถยนต์ ไว้เพียงประมาณ 10 นาที เพื่อไปซื้อของที่ร้านค้าริมถนนลาดพร้าวห่างจากที่จอดราวประมาณ 3 เมตร โดยที่ยังมีผู้คนอยู่ในบริเวณนั้น แล้วรถที่ทำประกันรถยนต์ไว้ได้หายไป มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยต้องรับผิด
สุดท้ายนี้ ขอให้เจ้าของรถทุกท่านควรระมัดระวังเหตุร้ายด้วยตัวท่านเอง หลีกเลี่ยงการจอดรถในทีเปลี่ยว ควรล็อกประตูรถ หรือล็อกพวงมาลัยรถ หรือล็อกเกียร์ หรือล็อกเบรก ฯลฯ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับท่านเอง
//ขอบคุณข้อมูลจาก asiadirect.co.th //

Sharing is caring!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *